วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ในชุมชน นโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง


กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม และการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง
โดยรัฐบาลจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง กองทุนละ 1 ล้านบาท พร้อมเสริมสร้างและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถ ในการจัดระบบบริหารจัดการเงินกองทุนหมุนเวียน ในหมู่บ้านและชุมชนเมืองกันเอง


ปรัชญา
1. เสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น
2. ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และจัดการหมู่บ้าน และชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง
3. เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน และชุมชน
4. เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน ราชการ เอกชน และประชาสังคม
5. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน
วัตถุประสงค์
1. เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน และชุมชนเมืองสำหรับการลงทุนเพื่อการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้หรือเพิ่มรายได้ การลดรายจ่ายการบรรเทาเหตุฉุกเฉินและความจำเป็นเร่งด่วน และสำหรับการนำไปสู่การสร้างกองทุนสวัสดิภาพที่ดีแก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน
2. ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบ และบริหารจัดการเงินทุนของตนเอง
3. เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านและชุมชนเมือง
4. กระตุ้นเศรษฐกิจ ในระดับฐานรากของประเทศรวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต
5. เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง

หลักการจัดสรรเงิน  คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติมีหลักการในการจัดสรรเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง ดังนี้
1. ความพร้อม ความสนใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
2. ความพร้อมของคณะกรรมการกองทุน ที่เน้นความพร้อมของบุคคลทั้งในด้านความรู้ และประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุน
3. ความพร้อมของระบบการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนโดยสมาชิก
4. ความพร้อมของการบริหารจัดการ ที่สอดรับและเกื้อกูลกัน ระหว่างกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองกับกองทุนอื่นๆ ที่หน่วยงานราชการจัดตั้งขึ้นในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง

เตรียมความพร้อมอย่างไร  ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง จะต้องร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ตามขั้นตอน ดังนี้
1. สร้างจิตสำนึก และกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
- สร้างจิตสำนึกร่วมกันของประชาชน ในการเป็นเจ้าของกองทุนที่จะต้องร่วมกันบริหารจัดการโดยประชาชนเพื่อประชาชนของหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
- สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทราบนโยบาย กลไก แนวทางการบริหารจัดการกองทุนของตนเอง
- สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการ และบริหารจัดการกองทุน เริ่มจากร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามตรวจสอบ ร่วมรับผลประโยชน์ ตลอดจนร่วมสร้างกองทุนไปสู่ความยั่งยืนต่อไป


2. เลือกสรรคนดีเป็นกรรมการกองทุน 
จัดเวทีชาวบ้าน เพื่อเลือกสรรคณะกรรมการกองทุนจำนวน 15 คน ตามระเบียบของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ดังนี้
- องค์ประชุมของเวทีชาวบ้าน คือจำนวนสามในสี่ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดของหมู่บ้าน หรือชุมชนเมือง
- ร่วมกันกำหนดวิธีการและดำเนินการเลือกกันเอง
- เลือกคณะกรรมการกองทุน ในช่วงระเวลาที่คณะกรรมการกองทุน หมู่บ้านและชุมชนเมืองกำหนด
- เลือกคนดีมีความรู้ ประสบการณ์ อีกทั้งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด
คุณสมบัติคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
ประชาชนร่วมกันคัดเลือกคนดีและมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ เป็นคณะกรรมการกองทุนเพื่อบริหารกองทุนของประชาชน
- เป็นผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านหรือชุมชนมาไม่น้อยกว่า 2 ปี
- เป็นผู้มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์
- เป็นผู้ปฏิบัติตนอยู่ในหลักศาสนา มีความรับผิดชอบเสียสละ มีส่วนร่วมในกิจกรรมของหมู่บ้านและชุมชนเมือง ไม่ติดการพนัน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่มีประวัติเสียด้านการเงินและยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ
- ไม่เคยรับโทษจำคุก เว้นแต่โทษที่กระทำโดยประมาท
- ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือไม่เคยกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เว้นแต่ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และความผิดฐานบุกรุก
- ไม่เคยถูกไล่ออก หรือให้ออกจากราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
- ไม่เป็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง
- ไม่เคยถูกให้ออกจากคณะกรรมการกองทุน ด้วยมติของคณะกรรมการหรือมติของสมาชิก
3. จัดทำระเบียบข้อบังคับ
เมื่อดำเนินการเลือกคณะกรรมการกองทุนแล้ว คณะกรรมการกองทุน และประชาชนร่วมกันจัดทำระเบียบข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารกองทุน (กติกา) กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองตนเอง โดยมีแนวทางดังนี้
- ประเด็นที่ต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด คือ
- วงเงินกู้ยืมรายหนึ่งไม่เกินสองหมื่นบาท หากเกินต้องให้สมาชิกพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด แต่รายหนึ่งต้องไม่เกินห้าหมื่นบาท
- ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกินหนึ่งปี
- ประเด็นอื่น ๆ คณะกรรมการกองทุนโดยความเห็นของของสมาชิกเป็นผู้กำหนด
4. การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
เมื่อจัดทำระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารจัดการกองทุนแล้ว คณะกรรมการกองทุน (กติกา) และสมาชิกจะต้องร่วมกันดำเนินการตามกติกาที่วางไว้ เช่น
- การรับสมาชิก
- การระดมทุน
- การจัดทำระบบบัญชี
- การจัดระบบตรวจสอบ
- การมอบหมายภารกิจ ความรับผิดชอบกรรมการ
- อื่น ๆ
5. การขอรับการจัดสรรเงินจากรัฐบาล
เมื่อกองทุนได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนเรียบร้อยแล้ว สามารถขอรับการจัดสรรเงินจากคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยมีขั้นตอนดังนี้
5.1 การขอขึ้นทะเบียนกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
      - จัดทำแบบขอขึ้นทะเบียนตามแบบ กทบ. 2 ซึ่งขอรับแบบ กทบ. 2 จากคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ
      - ยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนกับธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง คือ ระเบียบ ข้อบังคับของกองทุน
- เปิดบัญชีกับธนาคาร
5.2 การประเมินความพร้อมกองทุน
- การคัดเลือกคณะกรรมการกองทุน
- คุณสมบัติของคณะกรรมการกองทุน
- ความรู้ ประสบการณ์ และความมั่นใจการบริหารกองทุนของคณะกรรมการกองทุน
- ระเบียบ ข้อบังคับในการดำเนินการกองทุน
- การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน หรือสมาชิกในการจัดการกองทุน
- การปฏิบัติของสมาชิกตามระเบียบ และข้อบังคับของกองทุน
- การเปิดบัญชีเงินฝากของกองทุน
5.3 รับเงินจัดสรร
เมื่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติอนุมัติเงินจัดสรรตามผลการประเมินความพร้อมแล้ว จะแจ้งให้กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองทราบ เมื่อกองทุนได้รับแล้วให้ติดต่อธนาคารเพื่อทำหลักฐานการรับเงินจัดสรร โดยมีเอกสารดังต่อไปนี้
- สมุดบัญชีเงินฝากของกองทุน
- มติที่ประชุม ซึ่งเห็นชอบและมอบหมายให้คณะกรรมการกองทุน เป็นผู้มีอำนาจในการทำนิติกรรมสัญญากับธนาคารไปแสดงต่อธนาคารฯ และมติดังกล่าวต้องให้ประธานกรรมการของกองทุนลงนามกำกับ และรับรองสำเนาครบทุกหน้า
- บัตรประจำตัวประชาชนของคณะกรรมการกองทุน
6. ทำอย่างไร เมื่อไม่ผ่านการประเมินความพร้อม
กองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองใดที่ได้รับแจ้งว่าไม่ผ่านการประเมินความพร้อม ให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมเรื่องต่าง ๆ ตามที่ได้รับแจ้งผลการประเมินความพร้อม โดยมีแนวทางและวิธีการดังนี้
6.1 แนวทางการเตรียมความพร้อม  คณะกรรมการกองทุนร่วมกับสมาชิกเตรียมความพร้อมตามแนวทางดังนี้
- โดยร่วมมือและช่วยเหลือกันเองในหมู่บ้าน
- ขอความช่วยเหลือจากกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง ที่ผ่านการประเมินความพร้อมแล้ว
- ขอความช่วยเหลือจากคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดและอำเภอ
- การผสมผสานกันทั้ง 3 แนวทาง
6.2 วิธีการเตรียมความพร้อม  คณะกรรมการกองทุน ดำเนินการเพื่อให้เกิดความพร้อมด้วยวิธีดังนี้
- สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในหมู่บ้านหรือชุมชน โดยการใช้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนอื่นที่ผ่านการประเมินความพร้อมแล้วเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- การสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการและการจัดการแก่คณะกรรมการกองทุนและสมาชิกจากอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดและอำเภอ
6.3 ทำอย่างไรเมื่อมีความพร้อมแล้ว
- เมื่อกองทุนมีความพร้อม คณะกรรมการกองทุนแจ้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ เพื่อมาติดตามตรวจสอบ และรายงานคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด
- คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จะโอนเงินเข้ากองทุน เมื่อได้รับรายงานจากคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด
ความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านและกองทุนชุมชนเมือง
กองทุนหมู่บ้านและกองทุนชุมชนเมือง จะประสบผลสำเร็จได้หากมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในหมู่บ้าน หรือชุมชนเมือง
- ชาวบ้านมีจิตสำนึกร่วมกันในการเป็นเจ้าของกองทุน
- ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง รวมทั้งเคารพในกติกาที่กำหนดร่วมกัน
- มีคณะกรรมการกองทุนที่เป็นคนดี มีความรู้ ประสบการณ์ เสียสละ และรับผิดชอบ
- มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งการเรียนรู้ร่วมกัน คิดร่วมกัน ทำร่วมกัน ติดตามตรวจสอบร่วมกัน และรับผลประโยชน์ร่วมกัน อย่างเป็นธรรม
- มีความสามัคคี ความเอื้ออาทร เกื้อกูลผู้ด้อยโอกาส
- มีการประสานความร่วมมือทั้งในด้านการเรียนรู้และกิจกรรมร่วมกัน ในลักษณะเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง

- คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น