วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คุณธรรมของกิจกรรมเศรษฐกิจ


ในชีวิตประจำวันของเรา เราจำเป็นต้องซื้ออาหารมารับประทาน ต้องซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มาใช้ หรือต้องใช้บริหารต่างๆเพื่อความสะดวกสบาย ความต้องการที่จะใช้สินค้าหรือความต้องการที่จะใช้บริการที่ให้ความสะดวกสบายนี้ ทำให้เกิดการผลิตและการบริโภค ผู้ทำการผลิต เรียกว่า ผู้ผลิต และผู้ที่ใช้หรือผู้ซื้อสินค้าและบริการ เรียกว่า ผู้บริโภค


ผู้ผลิต หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่นำทรัพยากรมาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้ที่รับสินค้าและบริการจากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการ จะเห็นได้ว่า ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างก็ต้องการหรือใช้ทรัพยากร แต่เนื่องจากทรัพยากรต่างๆ มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ความต้องการมีอยู่มากมายจึงมีการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาโดยการจัดสรรการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด การผลิตสินค้าและบริการเพื่อนำมาใช้บำบัดความต้องการ  ผู้ผลิตพยายามนำทรัพยากรต่างๆ มาผสมผสานกันเพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงสุดหรือใช้ประโยชน์มากที่สุดและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด  ส่วนผู้บริโภคก็จะใช้ทรัพยากรตามความจำเป็น คุ้มค่า และประหยัดที่สุด

บทบาทผู้ผลิตที่มีคุณภาพ
บทบาทผู้ผลิตที่มีคุณภาพหรือมีคุณธรรม  ได้แก่  
1. มีความรับผิดชอบหรือคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตนอกจากจะต้องใช้ทรัพยากร การผลิตอย่างประหยัดไม่ฟุ่มเฟือยและให้ได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุดแล้ว ผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติส่วนรวมที่อาศัยอยู่โดยการ
    1) ไม่บุกรุกทำลายป่าเพื่อนำพื้นที่ป่ามาทำประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าและการบริการทั้งทางตรงและทางอ้อม 
       2)  ต้องบำบัดน้ำเสีย  ทั้งจากการผลิตและการบริการและการอุปโภคบริโภคก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
       3)  ต้องเป็นผู้นำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในสถานที่ตั้งและพื้นที่ใกล้เคียงให้อยู่ในสภาพดีและสวยงาม

2. มีจรรยาบรรณในการผลิต  ผู้ผลิตที่ดีควรมีจรรยาบรรณในการผลิต ได้แก่
   1)  ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ  ไม่ผลิตสินค้าหรือใช้ปัจจัยการผลิตที่อาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ หรือแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนประกอบ  ส่วนผสมที่จำเป็นที่ผู้บริโภคควรทราบและวิธีการใช้สินค้าชนิดนั้นให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด
    2) มีความซื่อสัตย์ในการกำหนดราคาสินค้าและบริการให้เหมาะสม ไม่ขายสินค้าแพงเกินไป เพื่อให้ได้กำไรมากๆ
    3)  ไม่หลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่โฆษณาสินค้าหรือการบริการของตนเกินความเป็นจริง
    4) รับผิดชอบในสินค้าและบริการที่ได้ผลิตและพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะและแก้ไขข้อบกพร่องในสินค้าและบริการ เพื่อผู้บริโภคจะได้ใช้สินค้าและบริการได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และมีความพึงพอใจในสินค้าและบริการ

3. มีการวางแผนเป็นอย่างดีก่อนเริ่มลงมือผลิต   ก่อนที่จะมีการผลิตสินค้าและบริการใดๆ  ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการวางแผนการผลิต หาข้อมูลต่างๆ มาอย่างครบถ้วน  ทั้งในด้านความต้องการของตลาด  ปัจจัยการผลิต  แหล่งที่มาของปัจจัยการผลิต  การขนส่งปัจจัยการผลิต  เงินทุน  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน   แรงงาน  เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต  การตลาด  การขนส่งผลผลิตออกสู่ตลาด  และปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการผลิต  และแนวทางแก้ไข  เพื่อลดการผิดพลาดในการผลิต   และลดการสูญเสียที่อาจจะมีขึ้นในการผลิตสินค้านั้น

4. มีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม   เทคโนโลยี คือ กรรมวิธีในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งรวมถึงรายละเอียด รูปแบบของเครื่องจักร การวางผังสถานประกอบการ โรงงาน และวิธีการในการบริหารงานด้วย ผลตอบแทนของผู้ผลิตจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีตลอดเวลาจะช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น ลดการสูญเสีย เนื่องจากผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าและบริการจำนวนหนึ่งโดยใช้ปัจจัยการผลิตหรือทรัพยากรการผลิตน้อยลง 



บทบาทของผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน
ในชีวิตประจำวันของเรา ต้องมีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต การรู้จักซื้อสินค้าและรู้จักการประมาณค่าใช้จ่าย เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมกับรายได้ ทั้งนี้ในการเลือกซื้อสินค้าก็ต้องมีความรอบคอบและยึดหลักซื้อสินค้าที่จำเป็น ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตคือปัจจัย 4  นอกจากนี้ในการซื้อก็ควรเลือกซื้อสินค้าที่มีประโยชน์ คุณภาพดี ราคาเหมาะสม และจะต้องคิดประมาณรายได้และฐานะของเราด้วย ไม่ควรซื้อสินค้าตามสมัยนิยม ตามคำโฆษณาหรือตามชักชวนของผู้อื่น ทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่เป็นหนี้
จากการที่มีผู้ผลิตสินค้ามากราย ผู้ผลิตบางรายเป็นผู้ผลิตที่ดี บางรายก็เป็นผู้ผลิตที่ไม่มีคุณธรรม มักเอาเปรียบผู้บริโภคเสมอไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ปลอมปนสินค้า หรือผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน หรือทำอันตรายแก่ผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้หากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม  ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งให้การคุ้มครองเป็นการทั่วไปแก่ผู้บริโภค และมีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีหน้าที่จัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ดำเนินการเกี่ยวกับฉลากสินค้า การโฆษณาสินค้าอันตราย และการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เป็นต้น หากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมและความไม่ปลอดภัยในสินค้าและบริการ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้โดยตรง   จะเป็นการช่วยเหลือสังคมไปในตัวด้วย
หน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทคอยปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นต้น

นอกจากผู้บริโภคจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ผลิตแล้ว บางครั้งแรงงานในการผลิตก็อาจถูกนายจ้างหรือผู้ผลิตเอาเปรียบหรือหลอกหลวงได้ เช่น การกดค่าจ้าง การทำงานที่เสี่ยงอันตราย การทำงานล่วงเวลาโดยไม่จ่ายเงินให้ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีกฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองและความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งในส่วนลูกจ้างหรือแรงงานนั้น กฎหมายแรงงานจะคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำงานในด้านต่างๆ เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ วันทำงาน วันพัก วันหยุด สวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของแรงงาน เป็นต้น หากนายจ้างหรือผู้ผลิตกระทำผิดกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างสามารถฟ้องร้องต่อศาลแรงงานเพื่อเอาผิดกับนายจ้างหรือเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้ได้แล้วแต่กรณี   


2 ความคิดเห็น:

  1. คำตอบ
    1. ghfjfjkrytfhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhhh

      ลบ